เขียนอุทธรณ์ ฎีกา อย่างไรให้ชนะคดี?

เขียนอุทธรณ์ ฎีกา อย่างไรให้ชนะคดี?

คำพิพากษาผูกพันคู่ความให้ต้องปฏิบัติตาม ผลแพ้ชนะตามคำพิพากษาย่อมเกิดทั้งความพึงพอใจและไม่พึงพอใจ ซึ่งคู่ความมีความต้องการอุทธรณ์ ฎีกา เพื่อให้ผลคำพิพากษาสุดท้ายสมความปรารถนาของคู่ความ การเขียนอุทธรณ์ ฎีกาเบื้องต้นคู่ความต้องศึกษาข้อกฎหมายก่อนว่ามีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา เพียงใด เพื่อเตรียมวางแผนอย่างถูกต้องครบถ้วน หากผิดพลาดอาจเกิดผลเสียต่อรูปคดีได้ เมื่อศึกษาข้อกฎหมายครบถ้วนแล้ว จึงนำข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานหลักฐานในสำนวนมาปรับกับข้อกฎหมายในแต่ละประเภทเพื่อชี้ให้เห็นถึงความถูกต้องและข้อได้เปรียบ ผู้เขียงอุทธรณ์ คำแก้อุทธร์ หรือ ฎีกา คำแก้ฎีกา จึงควรเรียงเนื้อหาในการเขียนดังนี้คือ

 

การเรียงคำฟ้องอุทธรณ์ หรือ ฎีกา มีขั้นตอนที่ควรปฏิบัติ ดังนี้

1.ต้องกล่าวถึงสาระสำคัญของคำฟ้องเดิม การเขียนคำฟ้องอุทธรณ์ ฎีกานั้น ต้องเริ่มด้วยการเขียนคำฟ้องโจทก์ฟ้องว่าอย่างไร โดยสรุปข้อเท็จจริงตามคำฟ้องให้สั้นกะทัดรัดง่ายต่อการอ่าน ทั้งได้ใจความครบถ้วนตามคำฟ้องด้วย วิธีการย่อคำฟ้องควรอ่านคำฟ้องให้เข้าใจว่าฟ้องเรื่องอะไร อ่านรายละเอียดหลายๆ ครั้ง จับใจความที่สำคัญแล้วนำใจความสำคัญนั้นเรียงลำดับให้อ่านง่าย ได้ความครบถ้วน ซึ่งปกติย่อคำฟ้องก็คงมีลำดับเช่นคำฟ้องนั้นเอง แต่สั้นกะทัดรัดกว่าเท่านั้น

2.ต้องกล่าวสาระสำคัญของคำให้การเดิม คำฟ้องทำให้รู้ว่ามีข้อกล่าวหาอย่างไร คำให้การเพื่อให้รู้ว่าผู้ถูกกล่าวหาแก้ข้อกล่าวหาว่าอย่างไร ความจำเป็นในการเขียนคำให้การเหมือนกับคำฟ้อง เพื่อให้รู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นลำดับ รู้ว่าจำเลยต่อสู้ประการใดคำให้การใช้วิธีการเขียนย่อเช่นเดียวกับคำฟ้อง

3.ต้องกล่าวถึงคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์โดยย่อ การเขียนคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์คงเขียนแต่เฉพาะส่วนที่เป็นคำพิพากษาจริงๆ โดยต้องเขียนให้ครบถ้วนได้ใจความตามนัยคำพิพากษานั้น ซึ่งทางปฏิบัติที่ดีก็ควรลอกถ้อยคำในคำพิพากษาทั้งหมดไว้ เหตุที่ต้องมีการเขียนคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาอย่างไรนั้น เพื่อจะได้โต้แย้งคำพิพากษาได้ถูกต้องว่าไม่เห็นด้วยอย่างใด มีเหตุผลอะไรที่ไม่เห็นด้วย

4.ต้องกล่าวถึงทางนำสืบโจทก์และจำเลย การเขียนทางนำสืบโจทก์และจำเลย คือ การระบุข้อเท็จจริงโดยย่อ เป็นการรวบรวมข้อเท็จจริงที่สมบูรณ์ที่สุดตามที่กฎหมายกำหนด โดยรวมคำเบิกความพยานโจทก์และจำเลยทุกปาก เป็นการจัดลำดับเรื่องตั้งแต่เกิดขึ้นจนกระทั่งครบตามความประสงค์ของโจทก์และจำเลยที่จะให้ศาลได้รู้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ทางนำสืบโจทก์และจำเลยที่ใช้นำมาเขียนคำฟ้องอุทธรณ์หรือคำฟ้องฎีกา ความประสงค์กฎหมายต้องการแต่เพียงข้อเท็จจริง

5.เนื้อหาของอุทธรณ์หรือฎีกา ต้องกล่าวไว้โดยชัดเจนและต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ การให้เหตุผลโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ต้องชัดเจนสามารถหักล้างเหตุผลของคำวินิจฉัยได้

6.เขียนสรุปคำขอ การเขียนสรุปคำขอมีความจำเป็นมาก เพื่อสรุปให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเห็นถึงความประสงค์ของผู้อุทธรณ์หรือฎีกา เน้นให้เห็นถึงความต้องการของผู้อุทธรณ์หรือฎีกาว่าต้องการอะไร แค่ไหน เพียงใด ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาจะได้วินิจฉัยสั่งตามความต้องการได้ถูกต้อง การเขียนนั้นควรเขียนให้สั้น กะทัดรัดได้ใจความสมบูรณ์ครบถ้วน คำขอที่เขียน เช่น ขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและให้...  หรือ ขอให้ศาลฎีกากลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์และให้..

 

ต้องยื่นอุทธรณ์ หรือ ฎีกา เมื่อไหร่?

การยื่นอุทธรณ์ หรือ ฎีกา นั้น คู่ความที่ไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษาไม่ว่าของศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ จะต้องจัดทำคำฟ้องอุทธรณ์ หรือ คำฟ้องฎีกายื่นต่อศาลภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลนั้นๆ ได้อ่านคำพิพากษา หากไม่ยื่นภายในกำหนดดังกล่าวคดีของท่านก็จะถึงที่สุดไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ ฎีกาได้อีกแล้ว

 

ผู้พิพากษาแต่ละศาลต่างกันอย่างไร ทำไมจึงต้องมีการอุทธรณ์ ฎีกาคำพิพากษา?

ด้วยระบบกฎหมายของประเทศไทยได้กำหนดให้ศาลยุติธรรมมีทั้งหมด 3 ศาล ได้แก่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และ ศาลฎีกา และสายข้าราชการตุลาการของผู้พิพากษาเป็นระบบอาวุโส คือมีการเลื่อนตำแหน่งโดยดูการจากเข้ารับบรรจุก่อนหลังเป็นสำคัญ จึงทำให้ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจะมีผู้พิพากษาที่มีประสบการณ์ในการพิพากษาอรรถคดีเป็นจำนวนมาก ทำให้การวินิจฉัยข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงเป็นไปอย่างแม่นยำสูงกว่าผู้พิพากษาศาลชั้นต้นนั้นเอง การที่คู่ความที่ไม่พอใจในคำพิพากษาสามารถที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลสูงเพื่อให้ศาลทำการวินิจฉัยคดีของตนใหม่ได้ และจากประสบการณ์ของผู้เขียนมีหลายคดีที่ศาลฎีกาได้มีการกลับคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง




 

 

 

Visitors: 356,634